.

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดปรับตัวขึ้นในวันศุกร์ (26 พ.ค.) เนื่องจากการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูงของสหรัฐนั้นได้กระตุ้นแรงซื้อสัญญาทองคำในฐานะแหล่งลงทุนประกันเงินเฟ้อ

 

ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 60 เซนต์ หรือ 0.03% ปิดที่ 1,944.30 ดอลลาร์/ออนซ์ แต่ลดลง 1.9% ในรอบสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นการลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกัน

 

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 45 เซนต์ หรือ 1.96% ปิดที่ 23.36 ดอลลาร์/ออนซ์

 

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 1.80 ดอลลาร์ หรือ 0.18% ปิดที่ 1,028.10 ดอลลาร์/ออนซ์

 

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 7.90 ดอลลาร์ หรือ 0.6% ปิดที่ 1,426.10  ดอลลาร์/ออนซ์

 

การเปิดเผยข้อมูลที่บ่งชี้ว่า อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐเพิ่มขึ้นนั้นได้กระตุ้นให้นักลงทุนเข้าซื้อสัญญาทองเพื่อประกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ

 

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 4.4% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 4.2% ในเดือนมี.ค. และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือนเม.ย. จากระดับ 0.1% ในเดือนมี.ค.

 

ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ ปรับตัวขึ้น 4.7% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.6% จากระดับ 4.6% ในเดือนมี.ค. และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.4% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.3% จากระดับ 0.3% ในเดือนมี.ค.

 

ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)

 

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้น 1.1% ในเดือนเม.ย. หลังจากพุ่งขึ้น 3.3% ในเดือนมี.ค. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนร่วงลง 1% ในเดือนเม.ย. โดยยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนได้รับแรงหนุนจากคำสั่งซื้อเครื่องบิน

 

ส่วนยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐาน ซึ่งเป็นคำสั่งซื้อสินค้าทุนที่ไม่รวมเครื่องบิน และสินค้าด้านอาวุธ โดยเป็นสิ่งบ่งชี้แผนการใช้จ่ายของภาคธุรกิจ ลดลง 0.6% ในเดือนเม.ย.

 

ด้านมหาวิทยาลัยมิชิแกนเปิดเผยผลสำรวจระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงในเดือนพ.ค. ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการขยายเพดานหนี้สหรัฐ โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคร่วงลงสู่ระดับ 59.2 ในเดือนพ.ค. แต่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 57.7 จากระดับ 63.5 ในเดือนเม.ย. ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจในปัจจุบันและในอนาคตต่างปรับตัวลงในเดือนพ.ค.

 

นอกจากนี้ ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะแตะระดับ 4.2% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า ชะลอตัวจากระดับ 4.6% ที่มีการสำรวจในเดือนเม.ย. และสำหรับในช่วง 5 ปีข้างหน้า ผู้บริโภคยังคงคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วง 2.9-3.0%

 

ที่มา สำนักข่าวอินโฟเควสท์